แนะนำเมเจอร์สเกลสำหรับมือใหม่

แนะนำเมเจอร์สเกลสำหรับมือใหม่

สำหรับนักดนตรีที่เล่นดนตรีมาได้สักระยะหนึ่งและเริ่มจากจะจริงจังมากขึ้น หนึ่งเรืื่องที่เราน่าจะสงสัยกันคือเรื่องของ สเกล โดยในวันนี้พี่เต่าจะมาแนะนำถึงสเกลพื้นฐานที่นักดนตรีต้องรู้ เพราะเป็นหนึ่งในสเกลพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่สเกลอื่นๆทั้งหมด นั้นคือ เมเจอร์สเกล


สเกล

สเกล คือ กลุ่มของโน๊ตที่เรียงกัน เป็นลำดับขั้น มีการจัดเรียงระดับของเสียงอย่างมีรูปแบบ มีเสียงห่างกันเป็นที่แน่นอน เวลาเล่นกลุ่มโน๊ตนั้นๆ จะได้สำเนียง เป็นแบบๆไป เป็นสำเนียงเฉพาะตัวของสเกลนั้นๆ เช่น สเกล Major (เมเจอร์) จะให้ความรู้สึกที่สนุกสนาน ฟังสบาย สเกล Minor (ไมเนอร์) จะให้ความรู้สึกที่เศร้า เหงา หดหู่ สำหรับมือใหม่ที่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องสเกลเพื่อนำไปต่อยอดในการโซโล่หรืออิมโพไวส์ สเกลแรกที่จะต้องรู้ก่อนคือ เมเจอร์สเกล

เมเจอร์สเกล

เมเจอร์สเกลนั้นเป็นหลักพื้นฐานของสเกลอื่นๆ ทุกสเกลจะสร้างขึ้นมาโดยยึดหลักพื้นฐานโครงสร้างมาจากเมเจอร์สเกล เพราะเมเจอร์สเกลจึงถือเป็นแม่แบบของสเกลอื่นๆ ดังนั้นถ้าเรามือใหม่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องสเกลและโหมดต่างๆ เมเจอร์สเกลเป็นด่านแรกที่เราต้องเจอ สำหรับ music tips วันนี้เราจะยกตัวอย่าง C Major Scale เพราะเป็นสเกลที่ไม่มี เฟรต(b) หรือ ชาร์ป(#) เพื่อให้มือใหม่เข้าใจง่ายที่สุด

สเกลหนึ่งสเกลนั้นประกอบไปด้วยโน้ต 8 ตัว สำหรับคีย์ C major scale นั้นประกอบไป C D E F G A B C แต่เมเจอร์สเกลนั้นจะมีกฎตายกลัวอยู่อย่างหนึ่งคือ ตัวที่ 3,4 กับตัวที่ 7,8 จะห่างกันครึ่งเสียงหรือครึ่งช่อง ซึ่งในคีย์ C ได้แก่ E,F และ B,C ส่วนโน้ตตัวอื่นๆนั้นจะห่างกันหนึ่งเสียงหรือหนึ่งช่องเต็ม โดย C ตัวที่หนึ่งกับตัวที่แปดนั้นเป็นโน้ตตัวเดียวกันแต่จะต่างกันที่ระดับความสูงของเสียงหรือที่เรียกว่า 1 OTAVE (ความหมายของ OCTAVE คือ โน้ตตัวเดียวกัน ที่เสียงสูงขึ้น หรือต่ำ ลงมา 8 ขั้น เช่น ในเมเจอร์สเกล โน้ตตัวแรก กับ ตัวสุดท้ายจะห่างกัน 1 OCTAVE)

แนะนำเมเจอร์สเกลสำหรับมือใหม่
W แทนหนึ่งเสียงเต็ม (2 เฟรต) , H แทนครึ่งเสียง (1 เฟรต)

 

สำหรับทางนิ้วในการไล่สเกลเมเจอร์นั้นมีหลายฟอร์มแต่ในที่นี้เราจะมาแนะนำประมาณ 2 ทางนิ้วที่เป็นที่นิยมกัน สำหรับคีย์ C นั้น เริ่มจากฟอร์มนิ้วแรกตามภาพตัวอย่างด้านล่าง เริ่มจากกดตำแหน่งโน้ต C โดยจะเลือกใช้ตำแหน่งที่เฟรต 3 ของสายที่ 5 หรือ เฟรตที่ 8 ของ สายที่ 6 แล้วแต่ความถนัด ในรูปนั้นตัวเลขจะแทนตำแหน่งของนิ้วที่เราใช้ 1คือนิ้วชี้ 2,3,4 คือนิ้ว กลาง , นาง , ก้อย โดยเริ่มเล่นจากช้าๆก่อนกับเมโทรนอม เมื่อคล่องแล้วจริงๆค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นที่ละนิด พยายามให้โน้ตที่เล่นออกมาชัดเจนที่สุด

 

แนะนำเมเจอร์สเกลสำหรับมือใหม่
( ด้านล่างคือสาย 6 , สีแดงคือตำแหน่งของโน้ต C )

สำหรับฟอร์มนิ้วอีกแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมจะเป็น โดยเริ่มที่ตำแหน่ง C ในจุดที่ถนัดเหมือนกัน แต่จะต่างจากแบบแรกนิดหน่อย แล้วแต่ว่าใครจะถนัดแบบไหน โดยวิธีฝึกไล่สเกลนั้นให้เริ่มจากช้าก่อนๆ โดยให้โน้ตที่เล่นมีความชัดมากที่สุด และเล่นกับเมโทรนอม หรือ เคาะเท้าให้จังหวะไปด้วย เพื่อที่เวลาต่อยอดไปสู่การโซโล่แล้วจะง่ายขึ้น

 

แนะนำเมเจอร์สเกลสำหรับมือใหม่
( ด้านล่างคือสาย 6 , สีแดงคือโน้ต C )

คอร์ดต่างๆในสเกล

ในสเกลหนึ่งสเกลนั้นสามารถแบ่งออกเป็นคอร์ดได้่ทั้งหมด 7 คอร์ด ซึ่งประโยชน์อีกอย่างจากการรู้สเกลในคีย์นั้นๆจะทำให้เราเดาคอร์ดต่างๆในคีย์เพลงนั้นได้โดยที่ไม่ต้องแกะ อย่างที่นักดนตรีเก่งๆหลายคนทำได้ หรือที่เรียกว่า ทางคอร์ด ถ้าเป็นคีย์ C โน้ตที่ 1 คือ C major , 2 คือ D minor (Dm) , 3 คือ E minor (Em) , 4 คือ F major , 5 คือ G major , 6 คือ A minor (Am) , 7 คือ B minor (Bm7b5) ให้สังเกตุได้จากรูปภาพด้านล่าง

แนะนำเมเจอร์สเกลสำหรับมือใหม่

มุมตอบคำถาม

Q : เราสามารถใช้ทางนิ้วฟอร์มสเกล C เมเจอร์นี้กับคีย์อื่นๆได้มั้ย

A : แน่นอนครับ เราสามารถใช้แพทเทิลนี้ไปปรับใช้กับคีย์อื่นๆได้ เช่น ถ้าเราใช้ฟอร์มนิ้วในแบบที่หนึ่งในคีย์ C แต่เราเปลี่ยนตัวเริ่มเป็นโน้ต D ก็จะเท่ากับว่าเราไล่สเกลคีย์ D อยู่ รวมถึงเราจะสามารถรู้ได้ด้วยว่าในคีย์ D มีคอร์ดอะไรบ้าง และเรายังใช้การไล่สเกลในคีย์ต่างๆสำหรับการฝึกนิ้วให้แข็งแรงขึ้นได้ด้วย

Q : เราสามารถใช้สเกลเมเจอร์ในการอิมโพรไวท์ได้หรือไม่

A : ได้ครับ แต่ต้องดูรู้ก่อนว่าเพลงนั้นอยู่ในคีย์อะไร เช่นถ้าเพลงนั้นอยู่ในคีย์ C เราสามารถใช้การไล่สเกลในคีย์ C ในการอิมโพรไวท์ได้ ในขั้นเริ่มแรกอาจจะเล่นแค่ octave เดียวก่อน และลองเล่นแบบสลับตำแหน่ง เช่น จากปกติเราไล่สเกลเป็น 1-8 แต่ในการอิมโพรไวท์อาจจะลองเล่นเป็น 1 3 7 5 หรืออะไรก็ได้แล้วแต่เราจะคิดได้ หรือลองแต่งเมโลดี้สัก 2-3 ตัวจากสเกลนั้นดูก็ได้ อีกอย่างที่สำคัญสำหรับการอิมโพรไวท์คือ ต้องเล่นให้ตรงสัดส่วนของเพลงด้วย เริ่มหัดจากช้าๆ โน้ตน้อยๆก่อน เมื่อคล่องแล้วจึงค่อยๆขยายโน้ตออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้การอิมโพรไวท์ของเราน่าสนใจยิ่งขึ้น

ทั้งหมดคือสเกลเมเจอร์ขั้นเบื้องต้นที่พี่เต่าอยากแนะนำให้มือใหม่ได้รู้ จริงๆแล้วยังมีสเกลอีกมากมายที่เราควรจะรู้ ไว้มีโอกาศคราวหน้าพี่เต่าจะมาให้ความรู้ในขั้นต่อไป อีกอย่างที่พี่เต่าอยากจะฝากไว้คือ หลายๆคนอาจจะคิดว่าทฤษฎีเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับนักดนตรี เพราะมันจะทำให้เราต่อยอดได้มากขึ้นและง่ายขึ้น เอาเป็นว่าอย่างน้อยที่สุดก็ควรจะรู้เรื่องพื้นฐานกันไว้บ้างก็ยังดี อย่าลืมนะครับ การซ้อมเป็นหน้าที่ของคุณ แต่ถ้าเครื่องดนตรีเป็นหน้าที่ของ เต่าแดง !!

Facebook Comments
[do_widget "WP Subscribe Widget"]